ประโยชน์ของเห็ดหูหนูดำ

ประโยชน์ของเห็ดหูหนูดำ
เห็ดหูหนูดำเป็นเห็ดที่หาได้ง่าย นิยมนำมาบริโภคกันอย่างกว้างขวาง โดยนำมาใช้ประกอบอาหาร เช่น ผัดเนื้อไก่ใส่ขิงใส่เห็ดหูหนู แกงจืดเห็ดหูหนู ยำเห็ดหูหนู เป็นต้น
เห็ดหูหนูดำได้ชื่อว่าเป็น “อาหารคาวของอาหารเจ” และยังเป็น “สุดยอดของเห็ด” เพราะมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้หลายโรค โดยชาวจีนนั้นถือว่าเห็ดหูหนูเป็นอายุวัฒนะ ส่วนในทางการแพทย์จีนถือว่าเห็ดหูหนูเป็นยาบำรุงเลือดและพลัง
เห็ดหูหนูดำเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคหัวใจ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และมีคุณสมบัติในการลดไขมันในเลือด โดยมีสารอะดีโนซีนที่ช่วยลดความเข้มข้นของเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน จึงไม่ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ สมอง และอวัยวะอื่น ๆ
เห็ดหูหนูดำมักถูกนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง หลอดเลือดแข็งตัว หลอดเลือดตีบ เลือดจาง อ่อนเพลีย วัณโรค หอบหืด ไอแห้ง ไอเป็นเลือด เจ็บคอ เป็นโรคร้อนใน เป็นนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต อุจจาระเป็นเลือด อีกทั้งยังช่วยป้องกันมะเร็ง ต้านมะเร็ง และช่วยลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสีได้อีกด้วย อีกทั้งเห็ดหูหนูมีฤทธิ์ในการลดความร้อนของเลือด หยุดเลือด เช่น ริดสีดวง อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากความร้อนของระบบเลือด
เห็ดหูหนูดำมีน้ำยางธรรมชาติและไฟเบอร์ที่ช่วยในการระบายและขับของเสียในลำไส้
นอกจากนี้เห็ดหูหนูดำยังมีประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง ช่วยบำรุงสายตา บำรุงตับ นอกจากนี้เห็ดหูหนูยังมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายเกิดความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดให้คลายตัว บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส
ข้อควรระวัง : เห็ดหูหนูมีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น ผู้ที่มีระบบการย่อยอาหารหรือมีภาวะของร่างกายค่อนข้างไปทางเย็นมาก ๆ ต้องมีอาหารหรือสมุนไพรอื่นที่มีคุณสมบัติร้อนประกอบด้วย และควรระมัดระวังไม่ควรกินมากในช่วงกลางคืน แต่ควรกินในช่วงเวลากลางวันจะเหมาะสมกว่า
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เห็ดหูหนู”. หน้า 628.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 300 คอลัมน์ : แพทย์แผนจีน. (นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล). “เห็ดหูหนู : สุดยอดของเห็ด”.
อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “เห็ดหูหนู”.