fbpx

โรคนิ้วล็อคหรือ Trigger Finger

          โรคนิ้วล็อคหรือ Trigger Finger เกิดจากการใช้งานของมืออย่างรุนแรง ในการบีบกำ หิ้วของหนัก ๆ ซ้ำ ๆ โดยใช้แรงกดขยำ ขยี้ ทำให้เส้นเอ็นที่มีหน้าที่รัดเส้นเอ็นติดกับกระดูก ขณะที่เรากำและแบนิ้วมือ เกิดการเสียดสี จนทำให้เส้นเอ็นบวม เกิดพังผืดหนาตัวขึ้นเป็นปม ขาดความยืดหยุ่นเป็นผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวผ่านปลอกเอ็นไม่สะดวก แม่บ้านที่ใช้มือทำงานหนัก เช่น หิ้วถุงพลาสติก หนัก ๆ หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ช้อปปิ้ง หิ้วถังน้ำ บิดผ้า กำมีดสับหมู หรือสับอาหารประเภทต่าง ๆ ผู้ชายมักจะพบในอาชีพที่ต้องใช้งานมือหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ใช้จอบ เสียม มีด ฟันต้นไม้ ช่างที่ใช้ไขควง สว่าน หิ้ว หรือ ยกของหนักเป็นประจำ

     อาการของโรคนิ้วล็อค

     นิ้วจะเหยียดและงอทำให้มีอาการปวดที่บริเวณโคนนิ้ว ถ้าอาการของโรคนิ้วล็อครุนแรง นิ้วมือจะงอหรือเหยียดไม่ได้เลยเลย นิ้วล็อค จะมีอาการรุนแรงแตกต่างกัน และแบ่งตามอาการออกเป็นระดับของความรุนแรง ดังนี้ 
     ระดับที่ 1 นิ้วไม่มีการล็อค แต่นิ้วมือจะรู้สึกฝืด เวลาเหยียดหรืองอนิ้วมือในตอนเช้าหรือในอากาศเย็นๆ 
     ระดับที่ 2 นิ้วมือจะงอและเหยียดมีเสียงดัง แต่ยังคงเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เริ่มมีอาการปวดที่โคนนิ้ว
     ระดับที่ 3 นิ้วมือเวลางอหรือเหยียดจะมีเสียงดัง และล็อค ต้องใช้มือด้านตรงข้ามมาเหยียดออก และจะมีอาการปวด 
     ระดับที่ 4 นิ้วมือจะล็อค และทำให้นิ้วเหยียดออกหรืองอไม่ได้เลย 

    วิธีป้องกัน “โรคนิ้วล็อค”

  1.    ไม่หิ้วของหนัก เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ ถ้าจำเป็นต้องหิ้ว ควรใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้วิธีการอุ้มประคองช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้
         2. ไม่ควรบิดหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ และไม่ควรบิดผ้าให้แห้งสนิท เพราะจะยึดปลอกหุ้มเอ็นจนคราก และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคนิ้วล็อค 
         3. นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรใส่ถุงมือ หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อลดแรงปะทะ และไม่ควรไดร์ฟกอล์ฟต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ 
         4. เวลาทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่าง ควรระวังการกำหรือบดเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น 
         5. ชาวสวนควรระวังเรื่องการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร หรืออื่นๆ ที่ใช้แรงมือควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น และควรใช้สายยางรดน้ำต้นไม้แทนการหิ้วถังน้ำ 
         6. คนที่ยกของหนักๆ เป็นประจำ เช่นคนส่งน้ำขวด ถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้านุ่มๆ มารองจับขณะยก และใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก 
         7. หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานานๆ ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้หนานุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัวพ่อครัว 
         8. งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที

    วิธีการรักษา “โรคนิ้วล็อค”

      1.  การใช้ยารับประทาน เพื่อลดการอักเสบ ลดบวม และลดอาการปวด ร่วมกับพักการใช้มือ

      2. การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การใช้เครื่องดามนิ้วมือ การนวดเบาๆ การใช้ความร้อนประคบ และการออกกำลังกายเหยียดนิ้ว โดยการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด อาจใช้ร่วมกันได้ และมักใช้ได้ผลดีเมื่อมีอาการของโรคในระยะแรก และระยะที่สอง 

      3. การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ลดปวดและลดบวม เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ส่วนมากมักจะหายเจ็บ บางรายอาการติดสะดุดจะดีขึ้น แต่การฉีดยามักถือว่าเป็นการรักษาแบบชั่วคราว และข้อจำกัดก็คือ ไม่ควรฉีดยาเกิด 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็นโรค การรักษาโดยการฉีดยานี้สามารถใช้ได้กับอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะท้าย 

     4. การรักษาโดยการผ่าตัด ถือว่าเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในแง่ที่จะไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคอีก หลักในการผ่าตัด คือ ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดอีก ทั้งนี้ การผ่าตัดแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีมาตรฐาน ที่ควรทำในห้องผ่าตัด โดยฉีดยาชาเฉพาะที่ผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้ หลังผ่าตัดหลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก และการสัมผัสนิ้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ 

           อีกวิธีเป็นการผ่าตัดแบบปิด โดยการใช้เข็มเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออก โดยแทบไม่มีแผลให้เห็น โดยวิธีนี้อาจมีผลแทรกซ้อนได้ถ้าไปเขี่ยหรือสะกิดถูกเส้นประสาท ดังนั้น จึงไม่แนะนำสำหรับนิ้วที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทสูง คือ นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ และการผ่าตัดแบบปิดนี้ใช้ได้สำหรับคนไข้ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะที่สองขึ้นไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานสาธราณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา
เรายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของคุณ

แสดงความคิดเห็น

Logo
รายการเปรียบเทียบ
  • Total (0)
เปรียบเทียบ
0