fbpx

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สมุฏฐานการเกิดโรค

         –  เกิดจากอิริยาบถไม่ดี อยู่ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานๆ เช่น เดิน ยืน นั่งการใช้แรงกายมากเป็นเวลานานๆเกิดกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น รับภาระหนักเกิน เกิดของเสียหรือพิษสะสมในเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ เป็นเหตุให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อตึงตัว ขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นงัดข้อกระดูกสันหลัง หรือกระดูกคอ ทำให้ข้อกระดูกแคบลง และเคลื่อนไหวไม่ดีเกิดจากการกดทับเส้นประสาทการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก จึงมีอาการปวดเมื่อย เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้ามีอาการชา ร่วมด้วย

         –  เกิดจากอุบัติเหตุ ถูกชนหรือกระแทกแรงๆบริเวณหลังหรือคอทำให้เกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเส้นเอ็น กระดูก

         –  เกิดจากท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดตะกรันในลำไส้ เกิดพิษ ผนังลำไส้ดูดพิษกลับเข้าเส้นเอ็นทำให้เส้นเอ็นพิการดังนี้เอ็นเมื่อพิการ ส่วนว่าเส้นประธาน 10 เส้น มีบริวาร 2700 เส้นนั้นก็หวาดไหวไปสิ้นทั้งนั้น ที่กล้าก็กล้า ที่แข็งก็แข็ง ที่ตั้งดานก็ตั้งดาน ที่ขอดก็ขอดเข้าเป็นก้อนเป็นเถาไป เป็นเหตุแต่จะให้โทษนักแต่เส้นอันชื่อว่าสุมะนากับเส้นอำมะฤกษ์นั้น ทำเหตุแต่จะให้ระส่ำระสาย ให้ร้อนให้เย็นให้เมื่อยให้เสียวไปทุดเส้นเอ็นทั้งตัว ตั้งแต่ที่สุดบาทาตลอดขึ้นไปถึงศีรษะทำทางที่จะให้เจ็บเป็นเวลา แต่เส้นอัมพฤกษ์สิ่งเดียวนั้นให้โทษถึง 11 ประการ ถ้าพร้อมทั้ง 2700 เส้นแล้วก็ตายแล ถ้าเป็นแค่ 2 เส้น 3 เส้น 4 เส้นยังแก้ได้แล

ลักษณะอาการของโรค

 ตำแหน่งของโรคมี 2 ตำแหน่ง คือ

  • มีอาการปวดบริเวณ คอ บ่า ไหล่ ร้าวลงแขน ชาท่าทางปติของแขน บางท่าทางจะกระทำได้ยากความคล่องในการใช้แขนลดลง เหตุเพราะอาการปวดตึง
  • มีอาการปวดบริเวณหลังร้าวลงตลอดขาอาจมีอาการชา ร่วมด้วย
  • ท้องผูก ไม่ถ่ายทุกวัน ถ่ายยาก ถ่ายไม่หมด
  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก

การรักษาโรค

  • สมุฏฐานโรคที่เกิดจาก อิริยาบถไม่ดี
  • ถ่ายพิษ คือลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ มี 2 วิธี คือใช้ยา และการแหก
  • ใช้ยากลุ่มที่ทำให้เส้นเอ็นอ่อนตัวเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดความแข็งตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ
  • ถ้ามีอาการชาร่วมด้วยให้ใช้ยารสร้อน เพื่อขับลมในเส้น ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีความดันสูง
  • ใช้ยาทาภายนอก ยาไพล
  • นวด อบ ประคบ
  • กายบริหารฤษีดันตน

 

คำอธิบาย เมื่อเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ ยืดหยุ่นได้เป็นปกติ กระดูกที่แคบหายไป การกดทับเส้นประสาทก็หาย อาการปวดก็หายไป

  • เหตุเกิดจากอุบัติเหตุควรพบแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อตรวจกระดูกหักหรือไม่ถ้ากระดูกไม่หักรักษาโดยแพทย์แผนไทยดังนี้

๒.๑.  ถ่ายพิษคือลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ คือใช้ยา

๒.๒. ใช้ยากลุ่มที่ทำให้เส้นเอ็นอ่อนตัวเพื่อช่วยเลือดไหลเวียนดีขึ้น ไม่ใช้ยารสร้อน

  • ถ้ามีอาการท้องผูกร่วมด้วย เพิ่มยาธรณีสันฑะฆาต

 

ยาที่ใช้ในการรักษาโรค

ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ

  • ยาเถาวัลย์เปรียง ใช้บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที

ข้อห้ามใช้          ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์

ข้อควรระวัง      

  • ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงออกฤทธิ์คล้ายยาแก้ปวดกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
  • อาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร

อาการไม่พึงประสงค์   ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง ใจสั่น

  • ยาธรณีสันฑะฆาต แก้กษัยเส้น

ชนิดผง  รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที

ชนิดเม็ด   ชนิดลูกกลอน และชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า หรือก่อนนอน

ข้อห้ามใช้   ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีไข้  และเด็ก

ข้อควรระวัง

  • ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และยาตานการจับตัวของเกล็ดเลือด
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้
  • ควรระวังการใช้ ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylineและ Rifampicin เนื่องจากตำหรับนี้มีพริกไทยในประมาณสูง
  • ควรระวังการใช้ในผู้สูงอายุ
  • ยาผสมโคคลาน บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

สูตรตำรับที่ ๑. ยาชง ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย เถาโคคลาน โด่ไม่รู้ล้ม ผลมะตูมอ่อน ทองพันชั่ง(ทั้งต้น) หนักสิ่งละ 25 กรัม

สูตรตำรับที่ ๒. ยาต้ม ในยา 105 กรัม ประกอบด้วย เถาโคคลาน หนัก 50 กรัม ส่วนเหนือดิน ทองพันชั่ง หนักสิ่งละ 20 กรัม โด่ไม่รู้ล้ม ผลมะตูมอ่อน หนักสิ่งละ 25 กรัม

สูตรตำรับที่ ๓. ยาต้ม ในยา 100 กรัม ประกอบด้วย เถาโคคลาน เถาเอ็นอ่อน แก่นฝาง ถาสะค้าน หนักสิ่งละ 20 กรัม โด่ไม่รู้ล้ม ทองพันชั่ง (ทั้งต้น) หนักสิ่งละ 10 กรัม

ชนิงชง  รับประทานครั้งละ 1 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ชนิดต้ม นำตัวยาทั้งหมดมาเติมให้น้ำท่วมตัวยา ต้มน้ำเคี่ยว สามส่วนเหลือหนึ่งส่วน ดื่มครั้งละ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

  • ยาสหัศธารา ขับลมในเส้น แก้ลมกองหยาบ รับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ผู้ป่วยโรคความดันสูง รับประทาน 500 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร เช้า-เย็น

ข้อห้ามใช้          ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ และผู้ที่มีไข้

ข้อควรระวัง

  • ควรระวังการบริโภคในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติกและกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้
  • ควรระวังการใช้ ร่วมกับยา phenytion, propranolol, theopyline และ Rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในประมาณสูง

อาการไม่พึงประสงค์  ร้อนท้อง แสบท้อง คลื่นไส้ คอแห้ง ผื่นคัน

  • ยากษัยเส้น บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกายรับประทานครั้งละ 750 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

ข้อห้ามใช้          ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็ก

ข้อควรระวัง

  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเสรดอกไม้
  • ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเป็นลิ่ม และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของ ตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้

อาการไม่พึงประสงค์         แสบร้อนยอดอก

  • ยาแก้ลมอัมฤกษ์ บรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือขา รับประทานครั้งละ 1 กรัม ชงน้ำร้อนดื่มประมาณ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

ข้อห้ามใช้          ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และเด็ก

ข้อควรระวัง

  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูร และเกิดพิษได้

อาการไม่พึงประสงค์   แสบร้อนยอดอก

  • ยาขี้ผึ้งไพล บรรเทาอาการปวดเมื่อย ทา และถูเบาๆ บริเวณที่มีอาการ วันละ 2-3 ครั้ง

ข้อห้ามใช้

  • ห้ามทาบริเวณขอบตา และเนื้อเยื่ออ่อน
  • ห้ามทาบริเวณที่มีบาดแผล หรือมีแผลเปิด

 

  • ยาประคบ ประคบเพื่อลดอาการปวด และช่วยคลายกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อ กระตุ้นหรือเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต

นำยาประคบไปนึ่ง แล้วใช้ประคบขณะยังอุ่น วันละ1-2 ครั้ง ลูกประคบ 1 ลูก สามารถใช้ได้ 3-4 ครั้ง โดยหลังจากใช้แล้วผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปแช่ตู้เย็น

ข้อห้ามใช้         

  • ห้ามประคบบริเวณที่มีบาดแผล
  • ห้ามประคบเมื่อเกิดการอักเสบเฉียบพลัน เช่น ข้อเท้าแพลง หรือมีอาการอักเสบบวม แดง ร้อน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เนื่องจากจะทำให้อักเสบบวมมากขึ้น และอาจมีเลือดออกมากตามมาได้ โดยควรประคบหลัง 24 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่เคยเป็นมาก่อน หรือบริเวณที่มีกระดูก และต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อัมพาต เด็ก และผู้สูงอายุ เพราะมักมีความรู้สึกในการรับรู้และตอบสนองช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พองง่าย
  • หลังจากประคบสมุนไพรเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรอาบน้ำทันทีเพราะเป็นการล้างตัวยาจากผิวหนังและร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน (จากร้อนเป็นเยนทันทีทันใด) อาจทำให้เกิดเป็นไข้ได้
  • ควรระวังการใช้ในผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในยาประคบ

คำแนะนำ          ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีวัย ปัจฉิมวัย มักมีโรคประจำตัว เช่นความดัน เบาหวานไขมัน ดังนั้นไม่ควรใช้ยารสร้อน เช่น สหัศธารา กรณีผู้ป่วยกินยา ลดความดันแล้วคุมความดันได้ปกติ ก็ใช้ยาสหัศธาราได้ และใช้ตรีผลาคุมร้อน

 

  • การนวด (ผู้ให้ข้อมูล พท.ป ธีรชัย ปิ่นทอง แพทย์แผนไทยประยุกต์ บ.ป 220)

๔.๑. อาการปวดที่เกิดขึ้นกับหลังช่วงบน (Upper Back Pain) มักมีความเกี่ยวเนื่องกับโรค Myofascial pain syndrome ด้วยทางหลักการนวดราชสำนัก จะกล่าวในโรคลมปลายปัตลาด สัญญาณ 4, สัญญาณ 5 หลัง ซึ่งจะมีวิธีสังเกตใช้หลักการตรวจดูการเงยหน้า ก้มหน้า เพื่อสังเกตความสูงต่ำขงโหนกแก้ม สังเกตอาการปวด บวมแดง ร้อน ของผิวหนังบริเวณหลังช่วงบ่า และคอ ดูความโค้ง ความแคบหรือกว้างระหว่างข้อต่อกระดูกสันหลังที่มีอาการ ให้เอียงคอไปด้านข้างทำได้มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกันทั้งสองข้าง

  • โดยทั่วไปอาการปวดบริเวณจุดที่เด โรคลมปลายปัตคาด สัญญาณ 4 หลัง จะมีอาการปวดบ่าร้าวไปที่ศอก รู้สึกชาที่ปลายนิ้วที่เส้นประสาทเกี่ยวข้องนั้นๆ ส่วน โรคลมปลายปัตคาด สัญญาณ 5 หลัง จะมีอาการปวดบ่า คอ ปวดขึ้นศีรษะ บ้างร้าวไปที่ท้ายทอยบ้าง ไปที่เบ้าตาบ้าง หูอื้อบ้างไปที่การกดทับเส้น

๔.๒.  อาการปวดที่เกิดกับหลังช่วงบั้นเอว (Lower Back Pain) มักมีความเกี่ยวเนื่องกันกับโรค Myofascial pain syndrome ด้วยทางหลักการนวดราชสำนัก จะกล่าวในโรคลมปลายปัตคาด สัญญาณ 1 สัญญาณ 2สัญญาณ 3 หลัง ซึ่งจะมีวิธีสังเกตใช้หลักการตรวจดูหลังช่วงกระเบนเหน็บ สังเกตอาการปวด บวมแดง ร้อน ของผิวหนังบริเวณหลัง ความโค้ง ความงุ้ม เอน เอียง ความแคบหรือกว้างระหว่างข้อต่อกระดูกสันหลังที่มีอาการ ตรวจดูความยาวความสั้นของส้นเท้าขณะนอนหงาย การพับขาเป็นเลขสี่ การนอนหงายยกขาขึ้นต้านมือ

  • โดยทั่วไปอาการปวดบริเวณจุดที่เกิดโรคลมปลายปัตคาด สัญญาณ 1 หลัง จะมีอาการปวดทั่วบริเวณกระเบนเหน็บ อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ก้นกบบ้างร้าวลงใต้ข้อพับเข่า บางครั้งเป็นตะคริวที่น่องบางครั้งเจ็บร้าว ชา ที่ใต้ส้นเท้าร่วมด้วย เวลาวัดส้นเท้ามักสั้นกว่า เมื่อพับขาเป็นเลขสี่ กดจะต้านมือและมักเจ็บ เสียวบริเวณก้นกบ หรือกระเบนเหน็บ
  • ส่วนอาการปวดบริเวณจุดที่เกิด โรคลมปลายปัตคาด สัญญาณ 2 หลัง จะมีอาการปวดบริเวณจุดเท้าสะเอว ปวดไปที่ท้องน้อย ปวดหน่วง เจ็บหลังเวลาเบ่งปัสสาวะ
  • ส่วนอาการปวดบริเวณจุดที่เกิด โรคลมปลายปัตคาด สัญญาณ 3 หลัง จะมีอาการปวดบริเวณเหนือจุดเท้าสะเอว ปวดคล้ายยอกหลัง บ้างปวดเสียวมาที่สีข้าง บ้างปวดเวลาก้าวเดินขึ้นบันได เดินนานก็ปวดร้าวที่สะโพกด้านหน้า เข่าอ่อนแรง ร้าวลงมาที่หน้าแข้ง และปลีน่องถึงหลังเท้า

ตัวอย่างการกดนวดรักษา  อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการปวดที่เกิดกับหลังช่วงบนเริ่มนวดจากท่านั่งก่อน ให้ผู้ป่วยนั่งทาห้อยขา

  • นวดพื้นบ่า จนกว่ากล้ามเนื้อบ่าข้างที่เป็นจะนิ่ม
  • กดจุดสัญญาณ 4,5 หลังนวดสลับกันกับนวดบ่า เน้นการกดจุดสัญญาณที่เป็น
  • กดจุดสัญญาณ 1,2,3,4 หัวไหล่ กดนวดท่าพรหมสี่หน้า
  • ให้ผู้ป่วยนอนตะแครงทับข้างที่ไม่ปวด กดนวดเส้น 1 หลังด้านบน กดที่จุดรอบสะบักท่าตะแคง
  • กดนวดหัวไหล่ แขนท่านอน กดที่ปีกค้างคาว นวดคลายไปยังเส้น 1,2 แขนใน แขนนอก เปิดลม
  • ลุกขึ้นนั่งกดจุดไฟปลาร้า กดจุดแก้ลมดูดสะบัก กดท้องแขน แล้วพับแขนไปทางหลังหู ยืดเส้นพอรู้สึกตึง
  • ประคบเฉพาะที่ อบสมุนไพร หรือ พอกเฉพาะที่

 

 

๔.๓. อาการหมอนรองกระดุกทับเส้นประสาท  อาการปวดที่เกิดกับหลังช่วงล่าง ให้ผุ้ป่วยนอนหงาย

๑. เส้นรอบตาตุ่มใน ไม่ต้องแกะแรง 2-3  ครั้ง

๒. กดจุดนาบาท 3-5 ครั้ง เน้นเส้นสันหน้าแข้ง นวดเส้น 1,2,3 ขานอกด้านบนโดยให้หมอนั่งพับเพียบ ใช้ศอกกดเส้นขาด้านนอก เส้น 1 แนวหัวเข่าขึ้นไปถึงหัวตะคาก นวด 3-5 รอบ

๓. งอขาผู้ป่วยไปด้านข้าง นวดเส้นขาใน1,2,3 จากน่องถึงข้อพับขาด้านใน 3-5 รอบ พับขาผู้ป่วยเป็นเลข 4 นวดแนวขาด้านในเส้นขาด้านในให้มากๆ

๔. นอนท่างอขาท่าเดิม แต่พับให้มากขึ้น ใช้ปลายนิ้วทั้งสี่เกี่ยวเส้นขานอก 2 เส้นบนเปิดลม

๕. ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงเป็นซ้ายตะแคงขวา กดหาเส้นแข็งรอบๆสลักเพชร จะพบเส้นที่แข็งเป็นลำยาวๆ กดจนนิ่มอาการร้าวจะลดลง แก้วกดจุดสัญญาณ 1,2,3 สะโพก 3 รอบเน้นจุดเจ็บ

๖. ให้กดรอบๆ กระดูกก้นกบ ถ้าเป็นที่ S1 ที่กระดุกก้นกบจะพบเส้นที่แข็งเป็นลำ กดจนนิ่มอาการร้าวจะลดลง

๗. ให้กดนวดแนวเส้นหนึ่งหลัง กดเบาๆ ที่ช่วงเอวก่อน ถ้ากดถูกจุดจะรู้สึกร้าวไปสะโพก คลาเส้นที่บวมที่กระดุกช่วงบั้นเอวใกล้ๆ กระดูก้นกบ นวดเขี่ยเส้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกดแล้วไม่ร้าวลงขา

๘. กดนวดสัญญาณ 1,2,3 หลัง เน้นจุดกดเจ็บและที่มีอาการปวดร้าว ให้ผู้ป่วยงอเข่าขึ้นเข่าตรงแนวสะโพก ให้ผู้ป่วยบิดหันไปด้านข้างพร้อมเหยียดแขนเพื่อยืดแผ่นหลัง

๙. กลับสู่ท่าตะแคงกดแนวจุดท้าวสะเอว แล้วกดจุสะโพกซ้ำ คลายชาไปหน้าแข้ง และกดใต้ขาเส้นพิเศษ1,2 ไปถึงเท้า

๑๐. พลิกตะแคงอีกด้านกดเส้น 1,2,3 ขาใน กดจุดสัญญาณ 1-5 เปิดลม กดเน้นจุดสัญญาณตามอาการที่เป็น กดคลึงเส้นท้องขาและเส้นเหนือเข่า 1 ผ่ามือ เปิดลมจบ

๑๑. ประคบเฉพาะที่ท่านอนตะแคง สลับข้าง พอกดูดพิษบริเวณที่เป็น ถ้าอาการทั่วไปหายดีขึ้นสามารถอบสมุนไพรได้ ถ้ายังมีอาการปวดเสียวเล็กน้อยอยู่ก็ไม่ควรนั่งอบสมุนไพร ใช้นอตะแคงประคบและพอกด้วยยาสมุนไพร หมอบางท่านใช้ข้าวกับเกลือเม็ดอย่างละถ้วย คั่วให้ร้อน ห่อผ้าแล้วจึงประคบให้ทำสองรอบ

 

คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย

๑.การงดอาหารแสลง  การหลีกเลี่ยงท่าทางหรือพฤติกรรมที่ส่งเสริมโรค เช่น ห้ามนั่งไขว่ห้าง ห้ามเอากระเป๋าสตางค์ใส่กระเป๋าหลัง ให้พยายามนั่งตัวตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามยกของหนักเด็ดขาด ให้ระวังการก้มหยิบของให้ ”ย่อ” เข่าทุกครั้ง

๒. ท่าบริหาร

๒.๑ ให้นอนหงาย ให้ผู้ป่วยกอดเข่าชิดอกข้างละ 10-15 ครั้ง ทำช้าๆ ให้เกร็งไว้จนเมื่อย

๒.๒ ให้ตั้งเข่าทั้งสองข้างไขว้กัน ใช้มือทั้งสองโอบใต้พับเข่าแล้วดึงเข้าหาตัว

๒.๓ โหนตัว ไม่ต้องสูงมาก โหนแล้วค่อยๆ ย่อเข่าลง (ยืดกระดูกสันหลัง)ให้รู้สึกตึงหลัง

 

ข้อควรระวัง

กรณีที่ผู้ป่วยได้รับอุบัติตุมาก่อน และมีการตรวจว่ามีกระดุกแตก หัก ร้าว ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

เรายินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของคุณ

แสดงความคิดเห็น

Logo
รายการเปรียบเทียบ
  • Total (0)
เปรียบเทียบ
0